ประสิทธิผลการจัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรความร่วมมือโรงเรียน-โรงงานระยะที่ 1 (พ.ศ.2538-พ.ศ.2541) โรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอ

bar04_solid1x1_white.gif

ปีที่ทำวิจัย       :    พฤษภาคม  พ.ศ. 2547
การเผยแพร่    :     ตีพิมพ์ในหนังสือคุณภาพการจัดการศึกษา :  รวมผลงานวิจัยอาชีวศึกษาเอกชนจังหวัดระยอง ระยอง : พีเอสการพิมพ์. 2547. หน้า 1-59.

              การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาและเปรียบเทียบระดับประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรความร่วมมือโรงเรียน-โรงงาน  ของโรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอ  ระยะที่ 1  (พ.ศ. 2538 – พ.ศ. 2541)   โดยรวมและรายด้าน  จำแนกตามตำแหน่งงาน  ประสบการณ์ในการทำงานและหน่วยงาน  กลุ่มตัวอย่าง  ได้แก่  บุคลากรของสถานประกอบการที่รับผู้สำเร็จการศึกษา  จากโรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอเข้าทำงานตั้งแต่  พ.ศ. 2539 – พ.ศ. 2541  จำนวน  148 คน  เครื่องมือที่ใช้คือ  แบบสอบถาม  เป็นมาตราส่วนประมาณค่า  5 ระดับ  สถิติที่ใช้  ได้แก่  ค่าคะแนนเฉลี่ย  ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน  การทดสอบค่าที (t-test)  และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (one-way  ANOVA)
            
ผลการศึกษาพบว่า
            
1.  ประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรความร่วมมือโรงเรียน-โรงงาน  ของโรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอ  ในภาพรวมอยู่ในระดับสูง  เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน  พบว่า  มีประสิทธิผลอยู่ในระดับสูง  4 ด้าน  คือ  ด้านการตรงต่อเวลา  ด้านมนุษย์สัมพันธ์  ด้านการปฏิบัติงานตามระเบียบ  และด้านความรับผิดชอบ
            
2.  การเปรียบเทียบระดับประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรความร่วมมือโรงเรียน-โรงงาน  ของโรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอ  จำแนกตามตำแหน่งงานพบว่า  ในภาพรวมหัวหน้าแผนกและวิศวกรมีความเห็นไม่แตกต่างกัน  แต่เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า  มีความเห็นแตกต่างกันในด้านมนุษย์สัมพันธ์  (p < .01)  ด้านการปฏิบัติตามคำสั่งแนะนำ (p < .05)  และด้านความรับผิดชอบ (p < .05)
            
3. 
การเปรียบเทียบประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรความร่วมมือโรงเรียน-โรงงาน  ของโรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอ  จำแนกตามประสบการณ์การทำงานเมื่อพิจารณาโดยรวมพบว่า  ผู้มีประสบการณ์ทำงานต่างกันมีระดับประสิทธิผลแตกต่างกัน (p < .05)  โดยกลุ่มผู้มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า  10 ปี  มีความเห็นต่างกับกลุ่มผู้มีประสบการณ์ทำงาน  6–10 ปี  และกลุ่ม  1-5 ปี
            4.  การเปรียบเทียบประสิทธิผลในการจัดการเรียนการสอนแบบหลักสูตรความร่วมมือโรงเรียน-โรงงาน  ของโรงเรียนเทคโนโลยีทีพีไอ  จำแนกตามหน่วยงาน  เมื่อพิจารณาโดยรวมพบว่า  หน่วยงานต่างกันมีระดับประสิทธิผลแตกต่างกัน (p < .01)  โดยฝ่ายควบคุมคุณภาพและอื่นๆ  มีความเห็นแตกต่างกับฝ่ายซ่อมบำรุงและฝ่ายผลิต

 

Free Web Hosting